การได้เป็นเด็กสองภาษาดูเหมือนเป็นความได้เปรียบที่สามารถเข้าถึงได้ หลาย ๆ ครอบครัวจึงวางแผนปั้นลูกให้กลายเป็นเด็กสองภาษา สื่อสารภาษาไทยได้ ภาษาอังกฤษดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตล้วนได้เปรียบกว่าเด็กที่มีทักษะเพียง 1 ภาษา โอกาสที่มากกว่าสำหรับอนาคตของลูกน้อย สามารถสร้างได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาลกันเลยค่ะ วันนี้จึงขอเชิญชวนคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองมาเรียนรู้วิธีการช่วยลูกให้เป็นเด็กสองภาษากันค่ะ
งานวิจัยพบว่า ทารกเริ่มเรียนรู้เสียงตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เสียงของแม่เป็นหนึ่งในเสียงที่ชัดเจนที่สุดที่ทารกในครรภ์ได้ยิน และเมื่อคลอดมาแล้ว เจ้าทารกน้อยยังมีความสามารถที่หลายคนอาจจะไม่รู้ นั่นคือ การแยกความแตกต่างระหว่างภาษาของแม่กับภาษาอื่น ๆ ได้อีกด้วย ทารกสามารถเรียนรู้ภาษาใดก็ตามที่เขาได้ยินได้ฟัง จากนั้นจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเสียงใดที่เขาได้ยินบ่อยที่สุด ระหว่างอายุ 6-12 เดือน ทารกที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พูดภาษาเดียว จะเริ่มเชี่ยวชาญในภาษาแม่เป็นพิเศษ โดยเมื่ออายุครบ 1 ขวบ ทารกที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียว จะเริ่มสูญเสียความสามารถในการได้ยินความแตกต่างของเสียงในภาษาต่างประเทศ
ดังนั้นการเริ่มให้ลูกได้เรียนรู้สองภาษาเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น โดยควรเริ่มกันตั้งแต่ช่วงอายุเตรียมออกเสียงเลยดีที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ระบบสมองของลูกกำลังพัฒนา เพื่อเรียนรู้เสียงและคำพูด คุณแม่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เปิดคลิปให้ลูกดู เปิดเพลงให้ลูกฟัง หรือให้ลูกเล่นเกมที่มีคำศัพท์ มีภาพประกอบ โดยไม่ต้องคาดหวังหรือบังคับให้เป็นการท่องจำแบบท่องศัพท์สอบ แต่เป็นเพียงแค่การทำให้เด็กเข้าใจความหมาย และสามารถสื่อสารกับเราได้ โดยไม่ต้องใส่ความเคร่งครัดในการเรียนรู้ใด ๆ ลงไปทั้งสิ้น
ครอบครัวไหนอยากให้ลูกมีทักษะสองภาษาที่แข็งแรงขั้นเทพ จำเป็นต้องวางแผนกันให้ดีตั้งแต่หลังคลอด แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน และทำงานกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยต้องคุยและตกลงกันว่า เวลาอยู่ต่อหน้าลูก ใครจะพูดภาษาอะไรกับลูก เช่น ภาษาที่หนึ่ง (ไทย) เป็นภาษาของพ่อ ส่วนแม่รับหน้าที่พูดภาษาที่สอง (อังกฤษ) กับลูก โดยคนที่รับหน้าที่เป็นผู้พูดภาษาที่สองกับลูกนั้น จะต้องเป็นคนที่มีเวลาอยู่กับลูกค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะเป็นคุณแม่ หรือคุณย่า คุณยาย โดยอาจกำหนดให้ทุกวันต้องพูดภาษาที่สองกับลูกเท่านั้น ห้ามพูดไทย หรือไทยคำอังกฤษคำ ส่วนคนอื่นให้พูดไทยได้ตามปกติ เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับภาษาและสำเนียง เนื่องจากเด็กมักจะเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น แล้วเขาจะใช้ระบบเรด้าส่วนตัวของเขาในการเป็นตัวจับว่า เมื่อไหร่ควรพูดภาษาไทยกับใคร และเมื่อไหร่หรือสถานการณ์ใดควรพูดภาษาอังกฤษ เด็กจะเรียนรู้และปรับภาษาได้โดยอัตโนมัติ
สร้างบรรยากาศในชีวิตประจำวันของลูกให้ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ลูกได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ได้สมาคมติดต่อกับภาษาทั้งสองภาษาอยู่บ่อย ๆ จนกลายเป็นสังคมที่สื่อสารได้สองภาษา แรก ๆ เด็กอาจจะสับสนหรืองุนงงบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า ธรรมชาติของเด็ก เขาจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ แม้จะอธิบายไม่ได้ แต่เขาเข้าใจ ได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องใช้เวลา ทำซ้ำ ทำบ่อย และทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเขา อย่างกลมกลืนและเป็นส่วนหนี่งในชีวิตเขา เช่น อ่านการ์ตูน นิทานให้ลูกฟัง เปิดคลิป หนัง หรือการ์ตูนให้ลูกดู ซึ่งถ้าเด็กเล็กมาก สายตาอาจยังไม่สู้แสง ก็สามารถให้เขาฟังเสียงแทนเพื่อให้ได้สำเนียงที่ถูกต้อง เปิดเพลงสากล หรือโปสเตอร์ภาษาปิดอยู่ทั่วห้องหรือบ้าน
ธรรมชาติของเด็กจะมีวิธีเรียนรู้ในแบบที่กลมกลืน โดยที่ผู้ใหญ่อาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ ลองพิสูจน์ง่าย ๆ ด้วยการพาลูกเข้าไปในสังคมที่มีเด็กต่างชาติ หรือไปหาญาติหรือเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ ไปเล่นกับเด็กลูกหลานชาวต่างชาติ รับรองว่าภาษาเด็ก เป็นภาษาที่ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจ แต่พวกเขาเข้าใจกันและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างแน่นอน หรือพาลูกไป English Camp ไปพบกับกิจกรรม และการเรียนรู้คำศัพท์ การสื่อสารที่ใช้ภาษาที่สองในการทำกิจกรรมร่วมกัน ข้อสำคัญคือต้องเน้นความสนุก สร้างความสุขให้ลูก ให้ลูกน้อยมีทัศนคติที่ดีต่อการสื่อสารสองภาษา แบบไม่ต้องเคร่งเครียด เพราะเด็กในวัยนี้เขาไม่รู้ความจำเป็นหรอกว่า ภาษาสำคัญแค่ไหนสำหรับอนาคตของเขา แต่เขารู้เพียงแค่ว่า โลกของเขาช่างมีความสุขและสนุกจังเลย ที่ได้อยู่กับชีวิตแบบเด็กสองภาษา
Aunty
ข้อมูลประกอบ
ฝึกลูกพูดสองภาษา เริ่มได้เมื่อไหร่ https://www.enfababy.com/Child-development/Toddler-preparation/Training-for-bi-lingual
ฝึกลูกสองภาษาควรทำอย่างไร https://th.theasianparent.com/make-kids-2-lang